เรื่อง การเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออก กับ กฎหมายศุลกากร
บทความโดย อาจารย์ธัญณภัสส์ ปัญญาดีวสุกุล
( ทนายความและผู้ชำนาญการศุลกากร )โทร 089 8132099
เขียนจากประสบการณ์ด้านคดีศุลกากรและพิธีการศุลกากร(พ.ศ.2532-ปัจจุบัน)
ธุรกิจนำเข้า – ส่งออก เป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายศุลกากรและกฎหมายที่ควบคุมการนำเข้า-ส่งออกโดยตรงเริ่มตั้งแต่ขณะที่ของหรือสินค้านั้นเดินทางมาถึงประเทศไทย ซึ่งในการถูกควบคุมนั้น ผู้ประกอบการจะต้องรอบรู้ว่ามีกฎหมายจากหน่วยงานราชการใดที่ควบคุมบ้างนอกจากกรมศุลกากร หากรู้และเข้าใจกฎหมายที่ควบคุม ก็จะรู้ถึงวิธีการหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่รู้ไม่เข้าใจก็จะทำให้เข้าสู่สัญญาณอันตรายเป็นที่มาให้ ของหรือสินค้านั้นถูกศุลกากรจับ กัก หรืออาจยึดของให้ตกเป็นของแผ่นดินทำให้ไม่สามารถรับของออกไปจากเขตของศุลกากรได้ หรืออาจจะต้องชำระภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้น พร้อมกับค่าปรับอากรศุลกากรให้เรียบร้อยก่อน จึงจะรับของหรือสินค้าออกจากอารักขาของศุลกากรได้ ดังที่ได้กล่าวมานี้คือปัญหาทางศุลกากรที่ของหรือสินค้าตกเป็นคดีศุลกากร ในขณะผ่านพิธีการศุลกากร ในขณะที่ตกเป็นคดีศุลกากรของหรือสินค้านั้นต้องถูกศุลกากรกักไว้จนกว่าจะได้ดำเนินการทางคดีเสร็จสิ้น หรือทางเลือกอีกทาง ก็ต้องนำเงินมาวางประกันเพื่อการขอรับของหรือออกของไปก่อนแล้วค่อยมาดำเนินทางคดีในภายหลังจะต่อสู้หรือจะยอมแพ้ก็ค่อยว่ากันไป
คดีศุลกากรมีแต่ทำให้ธุรกิจได้รับความเสียหาย ดังนั้นผู้ประกอบการจำต้องให้ความสำคัญต่อกฎ กติกา ของศุลกากรโดยการศึกษาและค้นคว้าหาความรู้ และต้องสร้างทีมงานหรือพนักงานที่มีความสามารถด้านการศุลกากรเข้ามาทำงานให้กับตน มิใช่พนักงานจะมีทักษะด้านภาษาต่างประเทศเพียงอย่างเดียวแต่ไม่รู้เรื่องกฎหมาย ไม่รู้เรื่องกฎของศุลกากรเพื่อการนำเข้า-ส่งออก พวกเขาก็อาจจะกระทำผิดตามกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นำพาบริษัทตกเป็นคดีศุลกากรได้ในอนาคตส่วนเจ้าของธุรกิจก็ต้องคอยแก้ไขปัญหาคดีศุลกากรที่เกิดขึ้น นั่นหมายถึงในมือจะต้องใช้เงินจำนวนมากเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยการชำระภาษีศุลกากรเพิ่มและค่าปรับภาษี หรือต้องใช้เงินชำระเท่ากับราคาสินค้าพร้อมกับค่าภาษีที่ต้องชำระซ้ำ
การเตรียมความพร้อมเพื่อการนำเข้า-ส่งออก เริ่มต้นจะต้องพิจารณาว่า ของหรือสินค้า จะต้อง 1) ขออนุญาตเพื่อการนำเข้า-ส่งออกหรือไม่ 2) หรือเป็นของต้องห้ามในการนำเข้า-ส่งออก 3) ต่อมาต้องรอบรู้เรื่องภาษีศุลกากรว่าด้วยแหล่งที่มาของฐานภาษีที่สมบูรณ์ครบถ้วนตามกฎหมาย ประกอบกับ ต้องใช้รหัสพิกัดอัตราอากรศุลกากรให้สอดคล้องต้องกันกับของหรือสินค้า ทำไมถึงต้องใช้คำว่าสอดคล้องต้องกันกับของหรือสินค้า เพราะว่ารหัสพิกัดทุกตัวรหัสที่เป็นตัวเลขนั้นมีความหมายโดยตรงต่อประเภท ชนิด และชื่อเรียก ของของหรือสินค้าทุกรหัส ส่วนอัตราอากรศุลกากรนั้นจะแยกแตกออกไปตามการใช้รหัสพิกัดศุลกากร และยังแยกอัตราออกไปอีกตามการเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร ซึ่งจะต้องเลือกใช้อย่างระมัดระวังและรอบรู้จริงมีความชำนาญในการเลือกจริง หาไม่แล้ว ถ้าศุลกากรตรวจพบว่าเลือกใช้ไม่ถูกต้อง ศุลกากรจะคิดหารหัสพิกัดอัตราอากรให้ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับของหรือสินค้าจริง แต่อาจจะมีผลทำให้การชำระภาษีศุลกากรไปแล้วขาด เพราะรหัสพิกัดอัตราอากรใหม่มีอัตราที่สูงขึ้นกว่าเดิมและของหรือสินค้าจะต้องเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีศุลกากรต่อไป...หรือจะต้องรอบรู้เรื่องภาษีอากรทุ่มตลาด ภาษีสรรพสามิต ฯลฯ ซึ่งเป็นภาษีอากรที่ต้องชำระนอกจากภาษีอากรศุลกากร ฯลฯ
หน้าที่ของผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ตามกฎหมาย
ธุรกิจนำเข้า-ส่งออก เจ้าของธุรกิจจะเรียกเป็นผู้ประกอบการหรือผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออก จะต้องรู้หน้าที่ของตนเองตามกฎหมายศุลกากร ว่าตนมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตนอย่างไร ก่อนการนำเข้า-ส่งออก ขณะของหรือสินค้าเดินทางมาถึงเขตของศุลกากรไทย หรือของหรือสินค้าเดินทางออกจากเขตของศุลกากรไทยเพื่อไปต่างประเทศ และ ภายหลังจากการนำเข้า-ส่งออกเรียบร้อยแล้ว และจะต้องมีหน้าที่ในการปฏิบัติตนอย่างไรต่อไป
- ก่อนการนำเข้า
การตกลงขายของผู้ขายมาจากได้รับคำเสนอซื้อของผู้ซื้อที่ต้องเปิดคำสั่งซื้อหรือ Purchas Order (P/O) ก่อนสั่งซื้อจะต้องรู้ว่าสินค้านั้น ต้องห้ามนำเข้ามาในประเทศหรือไม่ หรือเป็นสินค้าที่จะต้องดำเนินการขอใบอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือไม่ก่อนการนำเข้า หรือเป็นสินค้าที่สามารถนำเข้า-ส่งออกได้ตามปกติ
ผู้ซื้อจะต้องมีความชัดเจนในรายละเอียดสินค้า เช่น ชื่อสินค้า ราคา และปริมาณ ไม่ควรใช้ชื่อมีความหมายกว้างกว้าง เพราะมีผลทำให้ผู้ขายอาจจะเปิดเอกสารบัญชีราคาสินค้าหรือ INVOICE โดยใช้ชื่อหรือรายละเอียดของสินค้าอย่างกว้างตามไปด้วย ผลที่ตามมาคืออาจกำหนดรหัสพิกัดอัตราอากรศุลกากรผิดพลาดซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ตกเป็นคดีศุลกากร ส่วนราคาต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าเป็นค่าใช้จ่ายอะไรซึ่งจะส่งผลต่อฐานภาษีศุลกากร
- ก่อนการส่งออก
ผู้ขายจะต้องรู้ว่าเป็นสินค้าที่ต้อง 1) ขออนุญาตส่งออก 2)หรือขอปริมาณโควตา เพื่อการส่งออกหรือไม่ 3) เป็นสินค้าต้องห้ามส่งออกหรือไม่ 4) ศึกษาการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อการส่งออก 5) สิทธิได้รับยกเว้นภาษีกรณีของส่งออกไปแล้วนำกลับเข้ามาภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด (RE-EXPORT) หากรู้ว่าจะเลยกำหนดก็ต้องไปขอขยายระยะเวลาออกไปอีกก่อนถึงวันหมดอายุ
- ขณะของหรือสินค้านำเข้าได้เดินทางมาถึงเขตของศุลกากรไทย
ในการผ่านพิธีการศุลกากร ขณะนำเข้าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมาก ปัญหาที่พบได้คือการชำระค่าภาษีศุลกากรขาดเพราะใช้รหัสพิกัดอัตราอากรศุลกากรผิด ฐานภาษีศุลกากรไม่สมบูรณ์ ปริมาณของหรือสินค้าเกินจากของจริง ชื่อสินค้าผิดจากของจริงหรือไม่ตรงตามความเป็นจริง หรือเป็นสินค้าที่ต้องเสียอากรอื่นอีกที่นอกจากอากรศุลกากร ฯลฯ
- ขณะที่ของหรือสินค้าเดินทางออกจากเขตของศุลกากรไทยเพื่อไปต่างประเทศ
การส่งออกทำอย่างไรให้ของหรือสินค้าเดินทางออกไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยครบถ้วนไม่สูญหายไม่บุบสลายหรือไม่ถูกยัดไส้ และที่สำคัญต้องนำมาผ่านพิธีการศุลกากรไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายก่อนนำขึ้นยานพาหนะ การพิจารณาเลือกใช้หีบห่อที่แข็งแรง มัดรัดให้แน่นหนา สินค้าภายในห่อหุ้มกันกระแทกไว้อย่างแข็งแรง ห่อหุ้มผิวหีบห่อมิให้โดนความชื้นได้ง่ายหรือป้องกันการเปียกน้ำ
ภายใต้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรอาเซียนมีกฎว่าถ้าเป็นสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ ผู้ขายมีหน้าที่จะต้องขอเอกสารสิทธิ์จากหน่วยงานราชการของประเทศของตนเพื่อออกให้กับผู้ซื้อเป็นผู้รับสิทธิ์ในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรเพื่อการนำเข้าสินค้า เมื่อผู้ซื้อได้รับเอกสารสิทธิ์นั้นแล้ว อาจจะช่วยให้ผู้ซื้อได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าต่อไป
- ภายหลังจากการส่งออกเรียบร้อยแล้ว
ผู้ขายจะต้องจัดเก็บเอกสารสำคัญไว้เป็นข้อมูลการส่งออกดังนี้ ใบขนสินค้าขาออก INVOICE , PACKING LIST , BIIL OF LADING(B/L) or AIR WAY BILL(AWB) และเอกสารการรับเงินจากผู้ซื้อ เพื่อส่งให้ฝ่ายบัญชีนำไปบันทึกการขายโดยส่งออก เพราะการขายโดยการส่งออกไปต่างประเทศ จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ต้องเก็บเอกสารดังกล่าวไว้เพื่อกรมสรรพากรเรียกตรวจสอบในอนาคต
- ภายหลังจากการนำเข้าเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ของหรือสินค้าเดินทางมาถึงและต่อมาได้จัดการผ่านพิธีการศุลกากรไปเรียบร้อยแล้ว และผู้ประกอบการได้รับของหรือสินค้าเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นจะต้องทำการรวบรวมเอกสารสำคัญเพื่อการจัดเก็บ เอกสารสำคัญคือ ใบขนสินค้าขาเข้า ,ใบเสร็จค่าภาษีศุลกากร , INVOICE , PACKING LIST , BILL OF LADING(B/L) or HOUSE AIR WAY BILL(HAWB) , เอกสารการโอนเงินค่าของหรือสินค้าให้กับผู้ขาย , เอกสารที่แสดงรายละเอียดสินค้า เช่น รูปภาพ แคตตาล้อค MSDS , INGREDIANT , SPECIFICATION ใบอนุญาตเกี่ยวกับการนำเข้า ฯลฯ
ความเสียหายที่ธุรกิจได้รับเมื่อตกเป็นคดีศุลกากร
กาลเวลาที่ตกเป็นคดีศุลกากรมีอยู่สองช่วงดังนี้ ช่วงที่หนึ่งขณะสินค้าเดินทางมาถึงและขณะผ่านพิธีการศุลกากร ช่วงที่สองคือผลการตรวจสอบธุรกิจนำเข้า-ส่งออก 1-5ปีย้อนหลังโดยทีมงานศุลกากรจากสำนักตรวจสอบอากร(สตอ) หรือฝ่ายปราบปรามศุลกากร
ในการต่อสู้คดีศุลกากรโอกาสชนะขึ้นอยู่ที่การปฏิบัติตนในขณะนำเข้าว่าเป็นไปอย่างรอบคอบและได้วางแผนป้องกันปัญหาเฉพาะหน้าหรือปัญหาในอนาคตแล้วเป็นอย่างดีและข้อสำคัญผู้วางแผนมีความชำนาญและเชี่ยวชาญการศุลกากรหรือไม่และกล้าที่จะรับรองผลลัพธ์ด้วยว่าต้องไม่มีปัญหาทางศุลกากรโดยเฉพาะภาษีศุลกากรย้อนหลัง ต้องสามารถตอบได้ว่าปัญหาทางศุลกากรจะไม่เกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างไร กระทำอย่างไร และผลลัพธ์เป็นอย่างไร
ความเสียหายที่ธุรกิจได้รับเมื่อตกเป็นคดีศุลกากร
ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นตามข้อกล่าวหาของศุลกากร เป็นความผิด 1) ฐานสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากรศุลกากร บทลงโทษ ชำระภาษีที่ขาดให้ครบถ้วนพร้อมค่าปรับอากรอีกสองเท่า หรือ 2) ฐานลักลอบหนีศุลกากร บทลงโทษ ชำระเท่ากับราคาสินค้าหรือชดใช้ราคาและค่าภาษีอากร หรือ 3) ฐานนำของต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร บทลงโทษ ยึดสินค้า หรือ 4) ฐานนำของต้องกำกัดนำเข้ามาโดยมิได้รับอนุญาต บทลงโทษ ยึดสินค้า ถ้าไม่มีสินค้าให้ยึด ต้องชำระชดใช้ราคาสินค้าพร้อมกับชำระค่าภาษีศุลกากร ถ้าโชคดีใบอนุญาตออกย้อนหลังได้ก็ต้องชำระค่าปรับใบอนุญาตโดยไม่ต้องชำระชดใช้ราคาสินค้าพร้อมกับชำระค่าภาษีศุลกากร คดีศุลกากรอาจทำให้ธุรกิจต้องหาเงินจำนวนมหาศาลเพื่อชดใช้ตามบทลงโทษตามกฎหมาย ผลสุดท้ายกระทบต่อพื้นฐานของธุรกิจที่สร้างกันมาอย่างยาวนาน จะนั่งนับถอยหลังหรือเดินหน้าก็ต้องสู้กันต่อไป
การจับย้อนหลังของศุลกากรทำให้ธุรกิจล้มได้อย่างไร
ก่อนอื่นผู้ประกอบการต้องรู้ว่าระบบตรวจสอบของกรมศุลกากรมีสองช่วงเวลา คือช่วงเวลาที่หนึ่งคือตรวจสอบขณะนำเข้า-ส่งออกหรือขณะผ่านพิธีการศุลกากร และช่วงเวลาที่สองคือ ข้อมูลการนำเข้า-ส่งออกที่ผ่านไปแล้วกรมศุลกากรจะทำการค้นหาข้อมูลมาทำการตรวจสอบอีก เรียกว่าระบบการตรวจสอบย้อนหลังโดยสำนักตรวจสอบอากร หรือสำนักปราบปรามศุลกากร
ผู้ชำนาญการศุลกากร-นักกฎหมาย สร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจนำเข้า-ส่งออกได้อย่างไร
คำว่าผู้ชำนาญการศุลกากร ต้องมีความชำนาญอย่างแท้จริงและรู้กฎหมาย ประกอบกับความชำนาญจะต้องมาจากประสบการณ์ด้านคดีศุลกากรและพิธีการศุลกากรอย่างยาวนาน โดยการนำความรู้ในเชิงแก้ไขปัญหาและประสบความสำเร็จแล้ว มาใช้แก้ไขปัญหาคดีศุลกากร และนำสาเหตุของปัญหามาใช้วางแผนระบบการนำเข้า-ส่งออก เพื่อป้องกันปัญหามิให้เกิดขึ้นในวันนี้และในอนาคตต่อไป การจัดการวางแผนงานทุกทุกเรื่อง จะต้องสามารถตอบได้อย่างมีเหตุและผลว่าทำไมหรือเพราะอะไรที่ทำให้ปัญหาจะไม่เกิดขึ้น เพราะธุรกิจคาดหวังไว้ว่าภาษีศุลกากรย้อนหลังต้องไม่เกิดขึ้นและการวางแผนงานป้องกันปัญหาจะต้องประสบความสำเร็จ ภายใต้การสร้างความเชื่อมั่นในการเดินหน้าของธุรกิจอย่างมั่นคง
บทความโดย อาจารย์ธัญณภัสส์ ปัญญาดีวสุกุล
( ทนายความและผู้ชำนาญการศุลกากร )
เขียนจากประสบการณ์ด้านคดีศุลกากรและพิธีการศุลกากร(พ.ศ.2532-ปัจจุบัน)